โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีชื่อเดิมว่า “โรงพยาบาลตาก” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตาก หลักกิโลเมตรที่ ๔๒๐ เลขที่ ๑๖/๒ ถนนพหลโยธิน ตำบลระแหง อำเภอเมืองจังหวัดตาก มีพื้นที่ขนาด ๓๐ ไร่ ๑ งาน ๑๕ ตารางวา และขึ้นทะเบียนเป็นราชพัสดุ เลขที่ ๒๓๗๙๓
ทิศเหนือ ติดต่อ ถนนซอยวัดมณีบรรพตวรวิหาร
ทิศใต้ ติดต่อ ถนนท่าเรือ
ทิศตะวันออก ติดต่อ ถนนพหลโยธิน
ทิศตะวันตก ติดต่อ ที่ดินเอกชน
ในปีพ.ศ.๒๔๘๒ นายหมัง สายชุมอินทร์ ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎร์จังหวัดตากใน
ขณะนั้น มีความริเริ่มที่จะให้มีโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดตาก และทางกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบในหลักการ และให้หาที่ดินไว้เพื่อดำเนินการ เริ่มต้นจึงได้รับบริจาคที่ดินจากนายหมัง สายชุ่มอินทร์ จำนวน ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๓๐ ตารางวา และจากพระครูรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดตากในขณะนั้น จำนวน ๖ ไร่ ๑ งาน ๓๐ ตารางวา แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการนายหมัง สายชุมอินทร์ จึงได้บริจาคเงินซื้อที่ดินอีกจำนวนหนึ่งจนรวมได้ทั้งสิ้น ๕๕ ไร่ ซึ่งต่อมาถนนพหลโยธินได้ตัดผ่านที่ดินทางด้านหน้าของโรงพยาบาล จึงทำให้พื้นที่ลดลงคงเหลือพื้นที่เพียง ๓๐ ไร่เศษ เท่าที่มีในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ กองโรงพยาบาลภูมิภาค กรมสาธารณสุข ได้อนุมัติเงินก่อสร้างโรงพยาบาลจำนวน ๔๘๑๒๕ บาท (สี่หมื่นแปดพันหนึ่งร้อยยี่สิบห้าบาทถ้วน) ประกอบด้วย ตึกอำนวยการ ๑ หลัง เรือนคนไข้สามัญขนาด ๒๕ เตียง ๑ หลัง บ้านพักแพทย์ ๑ หลัง บ้านพักพยาบาล ๓ หลัง โรงเก็บศพ ๑ หลัง โดยได้ลงมือก่อสร้าง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งในขณะนั้นการก่อสร้างมีความล่าช้าเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมามีผู้บริจาคเงินสร้างเรือนไข้พิเศษขนาด ๕ เตียง ๑ หลัง และมีผู้บริจาควัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ อีกหลายรายประกอบกันได้รับอนุมัติเงินสร้างหอถังเก็บน้ำฝนเพิ่มเติม จึงสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๗ โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัด (หลวงสกล ผดุงเขตต์) เป็นประธาน และมีนายแพทย์ยรรยง เลาหะจินดา ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล รวมระยะเวลาการก่อสร้าง ๓ ปี
เรือนคนไข้สามัญหลังแรก ปี พ.ศ.๒๔๘๔
ตึกอำนวยการหลังแรก (เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๕ – สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๒)
โรงพยาบาลตากในขณะนั้น สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง คือ กำแพงเพชร สุโขทัย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงอำเภอเถิน จังหวัดลำปางด้วย จึงทำให้ต้องมีการขยายและปรับปรุงอาคารเรือนไข้ให้เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของประชาชนผู้มารับบริการ ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้ต่อเติมตึกอำนวยการเป็นสองชั้นพร้อมทั้งขยายให้กว้างขึ้น โดยใช้เงินงบประมาณและเงินบริจาค เป็นเงินประมาณ ๔๗,๐๐๐ บาท (สี่หมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) ขณะนั้นโรงพยาบาลสามารถรับผู้ป่วยได้ ๑๐๐ เตียง
ตึกอำนวยการหลังที่สอง (ปี พ.ศ.๒๕๒๗)
โรงพยาบาลตาก…มองจากถนนพหลโยธินด้านหน้าโรงพยาบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐
ความทรงจำ…ในโอกาสเลี้ยงส่ง นพ.ธงชัย – คุณโอปอ เดชกำแหง ที่หน้าตึกอำนวยการราวปี พ.ศ.๒๕๐๕
ส่วนหนึ่งของบุคลากรโรงพยาบาลตาก
ในระยะบุกเบิกประกอบด้วย
– นพ.ปรีชา ตันติเวส ผู้อำนวยการฯ
(แถวล่าง ยืนกลาง)
– นพ.ธงชัย เดชกำแหง
(แถวล่าง ยืนขวา)
– นพ.ถนอม เหล่ารักพงศ์
(แถวล่าง ยืนซ้าย)
– คุณพิศวาส วงษ์เสรี (ตันติเสส)
(แถวบน ขวาสุด)
– คุณสาลี่ สายเปีย (หล้อแหลม)
(แถวบน ซ้ายสุด)
บรรยากาศตึกอำนวยการในอดีต…ผ่านมุมมองต่างวันเวลา
นอกจากจะขยายตึกอำนวยการให้กว้างขวางขึ้นแล้ว ต่อมาโรงพยาบาลตากยังได้รับงบประมาณและเงินบริจาค เพื่อก่อสร้างอาคารสถานที่เพิ่มมากขึ้น ดังลำดับต่อไปนี้
พ.ศ.๒๕๐๙
– ทำการก่อสร้างบ้านพักพยาบาลขนาด ๖ ห้อง ๑ หลัง, ตึกเก็บศพ ๑ หลัง ด้วยเงิน งบประมาณ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
– บริษัท ป่าไม้จังหวัดตาก จำกัด บริจาคเงินก่อสร้างตึกศูนย์จ่ายกลาง ๑ หลัง ด้วยเงินงบประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๑๐
– ทำการก่อสร้างตึกสูติกรรม ๑ หลัง, ตึกพยาธิวิทยา ๑ หลัง ด้วยเงินงบประมาณ จำนวน ๗๕๐,๐๐๐ บาท และเงินบริจาค จำนวน ๒๑๑,๑๐๐ บาท
– ซื้อเครื่องปรับอากาศสำหรับตึกสูติกรรม ๒ เครื่อง เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท
ตึกพยาธิวิทยาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๓๕ ภายหลังปรับปรุงเป็นงานแพทย์แผนไทยฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๖ และต่อมารื้อถอนในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เพื่อก่อสร้างอาคารผ่าตัด ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ ๗ ชั้น
พ.ศ.๒๕๑๑
– ก่อสร้างบ้านพักชั้นโท ๑ หลัง ด้วยเงินงบประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท
– ซ่อมแซมอาคารบำบัดรักษาและบ้านพัก เจ้าหน้าที่ด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๑๒
– รื้อตึกบัวผัด ก่อสร้างตึกผ่าตัดใหม่ ๑ หลัง, โรงครัวและโรงอาหาร ๑ หลัง โรงซักฟอก ๑ หลัง ด้วยเงินงบประมาณ เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท
– สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริจาคเงินสมทบในการก่อสร้างตึกผ่าตัดและจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นเงิน ๑๑๐,๐๐๐ บาท
ก่อสร้างโรงช่าง ซึ่งรวมทั้งช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ชั้นบนทำเป็นที่พักคนงาน ๔ ห้อง ด้วยเงินบำรุง ๖๐,๐๐๐ บาท
ตึกผ่าตัดหลังแรก ก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๒ หลังจากนั้นได้ใช้เป็นอาคารรับบริจาคโลหิตและคลังโลหิตต่อจนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๘
ตึกผ่าตัดหลังที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ – ๒๕๓๐ ต่อมาปรับปรุงเป็นงานห้องผู้ป่วยหนัก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๔๑ ก่อนรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารเภสัชกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑
เรือนบัวผัด ธิยะใจ
ปี พ.ศ.๒๔๘๔ – พ.ศ.๒๕๑๒
(ภาพที่เห็นเป็นอาคารที่ได้รับการ
ดัดแปลงและตกแต่งใหม่แล้ว)
ตึกอ่ำ ธิยะใจ
(ปี พ.ศ.๒๕๐๐ – พ.ศ.๒๕๓๒)
พ.ศ.๒๕๑๓
– ก่อสร้างตึกคนไข้สามัญ ขนาด ๕๐ เตียง ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง ด้วยเงินงบประมาณ ๕๕๐,๐๐๐บาท
พ.ศ.๒๕๑๒ – ๒๕๑๖
– นพ.ปรีชา ตันติเวสส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาก ได้หารือกับนายอุดร ตันติสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตากในขณะนั้น ให้ช่วยหางบประมาณจากรัฐบาลเพื่อก่อสร้างตึกคนไข้พิเศษ นายอุดร ตันติสุนทร จึงได้ขอสนับสนุนเงินบริจาคจากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดตาก จำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท เงินบริจาคจากบริษัท ห้างร้าน ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดตากผู้มีจิตศรัทธาอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๙๓๒,๓๖๐ บาท ก่อสร้างอาคาร ขนาด ๓๓ เตียง ๒ ชั้น ๑ หลัง โดยใช้แบบของกองสุขาภิบาล กรมอนามัย แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ และใช้ชื่อว่า “ตึกพิเศษสลาก”
ตึกพิเศษสลาก (ปี พ.ศ.๒๕๑๖ – ปัจจุบัน)
ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีความประสงค์จะสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดตากอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแต่กระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่า ไม่ควรจัดสร้างขึ้น เพราะมีโรงพยาบาลตาก โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งสามารถเปิดให้บริการประชาชนเพียงพอแล้ว จึงเสนอให้มูลนิธิฯ ปรับปรุงโรงพยาบาลตาก พร้อมทั้งยินดีให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตามวัตถุประสงค์ และทางมูลนิธิฯ เห็นชอบด้วย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๒ โรงพยาบาลจึงได้เสนอโครงการปรับปรุงดังนี้
๑. สร้างตึกผู้ป่วยนอก ๑ หลัง
๒. สร้างตึกอุบัติเหตุ ๑ หลัง
๓. สร้างตึกผู้ป่วยขนาด ๒๕๐ เตียง ๑ หลัง
๔. จัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ที่จำเป็น
การก่อสร้างตึกอำนวยการหลังใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ แทนที่ตึกอำนวยการเดิม
มูลนิธิฯ ร่วมกับโรงพยาบาลได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอก เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ โดย ฯพณฯ พลเอกสิทธิ จิโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยนั้นและเป็นประธานคณะ กรรมการมูลนิธิฯ เป็นประธานประกอบพิธี พร้อมทั้งได้รับบริจาคเงินเพื่อการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกเป็นเงิน ๓,๓๓๒,๖๗๖.๕๐ บาท (สามล้านสามแสนสามหมื่นสองพันหกร้อยเจ็ดสิบหกบาทห้าสิบสตางค์) และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๘ พร้อมกันนั้นยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อจาก “โรงพยาบาลตาก” เป็น “โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๘
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกอำนวยการ
เมื่อวันพุธที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๐
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมผู้ป่วยตึกหญิง
เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๐
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นสักทอง ณ บริเวณด้านข้างตึกอำนวยการ
ตึกอำนวยการ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
ทางด้านงานบริการรักษาพยาบาลแต่เดิมขณะเปิดโรงพยาบาลเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗ มีจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานน้อยมาก คือ แพทย์ ๑ คน พยาบาล ๔ คน คนงานบนตึก ๓ คน คนงานสนาม ๕ คน ไม่มีผู้ช่วยพยาบาล ต้องฝึกหัดคนงานประจำตึกแทน ส่วนพยาบาลต้องทำหน้าที่หลายอย่างตั้งแต่พยาบาลประจำการ พยาบาลดมยาจนกระทั่งเป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตร คนงานในสมันนั้นสามารถช่วยให้น้ำเกลือและฉีดยาได้ แพทย์ต้องทำหน้าที่ทันตแพทย์ในบางครั้ง จนต่อมามีการส่งพยาบาลไปศึกษาต่อทางด้านทันตานามัย และเริ่มมีเภสัชกรมาปฏิบัติงาน ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการผลิตและจ่ายยา
พ.ศ.๒๕๒๖ โรงพยาบาลเริ่มมีแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม และในปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาดูแลงานด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งในระยะนี้เริ่มมีการแยกแผนกชัดเจนขึ้นโดยแบ่งเป็น แผนกสูติ – นรีเวชกรรม แผนกศัลยกรรม แผนกอายุรกรรม และกุมารเวชกรรม
พ.ศ.๒๕๒๘ โรงพยาบาลเริ่มเปิดหน่วยงานห้องผู้ป่วยหนัก โดยปรับปรุงใช้สถานที่ห้องพิเศษตึกพิเศษสลากล่าง สามารถรับผู้ป่วยระยะวิกฤติได้ ๖ เตียง พร้อมทั้งได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตในระยะวิกฤติหลายชนิด เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้งานด้านการบริการรักษาพยาบาลก้าวหน้ายิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๔๑ จึงได้ย้ายงานห้องผู้ป่วยหนักไปอยู่ ณ ตึกผ่าตัดเก่า (หลังที่ ๒) และเมื่อถูกรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารเภสัชกรรมในปี พ.ศ.๒๕๔๑ จึงย้ายงานห้องผู้ป่วยหนักกลับมาอยู่ ณ บริเวณตึกพิเศษสลากล่างเช่นเดิมโดยปรับปรุงขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น จนสามารถรับผู้ป่วยระยะวิกฤติเพิ่มเป็น ๘ เตียง
พ.ศ.๒๕๒๘ – ๒๕๒๙ ได้ก่อสร้างตึกผ่าตัดใหม่ โดยใช้เงินบำรุงเป้นจำนวน ๗ ล้าน ๘ แสน บาท ประกอบ ด้วย ห้องผ่าตัด ๔ห้อง และชั้นบนจัดทำเป็นห้องสมุดและธนาคารเลือด สามารถให้บริการผู้ป่วยทางด้านศัลยกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๐
พ.ศ.๒๕๓๒ โรงพยาบาลได้รื้อตึกอ่ำ ธิยะใจ ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อก่อสร้างตึกผู้ป่วย ๔ ชั้น จำนวน ๑๒๐ เตียง โดยใช้ทั้งเงินงบประมาณ เงินมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเงินบริจาค เป็นจำนวน ๑๓ ล้านบาท ภายหลังก่อสร้างแล้วได้ตั้งชื่อว่า “อาคารรวมน้ำใจ” ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยทั้งด้านอายุกรรมและศัลยกรรม ซึ่งแยกเป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย อายุรกรรมหญิง ศัลยกรรมชาย และศัลยกรรมหญิง โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นต้นมา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
ในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเปิดอาคารรวมน้ำใจ
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
ในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเปิดอาคารรวมน้ำใจ
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕
พ.ศ.๒๕๓๖ มีการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เป็นอาคารขนาด๒ ชั้น โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อตอบสนองการพัฒนางานบริการอุบัติเหตุและฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ โดยอาคารชั้นล่างเป็นห้องตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องสังเกตอาการและห้องตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา ส่วนชั้นบนเป็นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ธนาคารเลือด และสำนักงานแพทย์ และในปีเดียวกันนี้โรงพยาบาลได้ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น จำนวน ๒ หลัง โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๙๗๐,๐๐๐ บาท
อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ (ชั้นบนเป็นสำนักงานแพทย์ และกลุ่มงานพยาธิวิทยาฯ)
ตึกสงฆ์อาพาธ ก่อนปี พ.ศ.๒๕๓๖… ในมุมเงียบสงบ สง่างาม (ก่อนรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
นับจากปี พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นต้นมา โรงพยาบาลมีการพัฒนางานบริการเพิ่มมากขึ้นในหลายๆด้านเพื่อให้ครอบคลุมระบบบริการสุขภาพมากขึ้น หน่วยงานสนับสนุนจึงต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาตามไปด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๗ จึงมีการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด ๓ ชั้น คือ “อาคารหน่วยจ่ายกลางและโรงซักฟอก” ด้วยเงินงบประมาณทั้งสิ้น ๑๔,๒๕๐,๐๐๐ บาท โดยดัดแปลงพื้นที่ใต้ถุนอาคารเป็นที่จอดรถจักรยานยนต์ และที่ตั้งเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ ๒ เครื่อง, ชั้น ๒ เป็นหน่วยจ่ายกลาง และหน่วยซักฟอก ส่วนชั้น ๓ เป็นหน่วยตัดเย็บ หน่วยจัดเตรียมเสื้อผ้าผู้ป่วยและผ้าสำหรับใช้ภายในโรงพยาบาล เช่น ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ฯลฯ แต่ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนสถานที่โดยงานซักฟอกทั้งหมดย้ายไปอยู่ที่ชั้นใต้ถุน, ชั้น ๒ เป็นหน่วยจ่ายกลาง ห้องเวชระเบียนผู้ป่วยใน และงานพัสดุ, ชั้น ๓ เป็นสำนักงานแพทย์ กลุ่มการพยาบาล ศูนย์คุณภาพ กลุ่มพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร เวชระเบียนผู้ป่วยในหน่วยจัดเก็บรายได้ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม ส่วนชั้นดาดฟ้าเป็นที่ตากผ้าบางส่วน
ปี พ.ศ.๒๕๔๐ สร้างอาคารพักพยาบาลขนาด ๒๐ ห้อง ๓ ชั้น ๑ หลัง โดยเงินนอกงบประมาณ จำนวน ๔,๓๙๘,๐๐๐ บาท เพื่อให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้มีที่พักนอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบผลิตน้ำประปาเพื่อใช้เองภายในโรงพยาบาล โดยสร้างโรงสูบน้ำเพื่อใช้สูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิง ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๑๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับสร้างหอถังเก็บน้ำขนาด ๔๕ ลบ.เมตร เพื่อใช้บรรจุน้ำซึ่งใช้เงินงบประมาณ ๓๘๐,๐๐๐ บาท และถังกรองน้ำผิวดิน เพื่อใช้กรองน้ำดิบที่สูบขึ้นมาจากแม่น้ำโดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ.๒๕๔๐ สร้างอาคารพักพยาบาลขนาด ๒๐ ห้อง ๓ ชั้น ๑ หลัง โดยเงินนอกงบประมาณ จำนวน ๔,๓๙๘,๐๐๐ บาท เพื่อให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้มีที่พักนอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบผลิตน้ำประปาเพื่อใช้เองภายในโรงพยาบาล โดยสร้างโรงสูบน้ำเพื่อใช้สูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิง ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๑๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับสร้างหอถังเก็บน้ำขนาด ๔๕ ลบ.เมตร เพื่อใช้บรรจุน้ำซึ่งใช้เงินงบประมาณ ๓๘๐,๐๐๐ บาท และถังกรองน้ำผิวดิน เพื่อใช้กรองน้ำดิบที่สูบขึ้นมาจากแม่น้ำโดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ.๒๕๔๑ สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด ๔ ชั้น ๑ หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารพักผู้ป่วยใน ๙๐ เตียง และห้องคลอด เมื่อแล้วเสร็จตั้งชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ”โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น ๕๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท ภายในอาคารแบ่งเป็น หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม ศัลยกรรม กระดูกชาย สูติ – นรีเวชกรรม งานห้องคลอด งานฝากครรภ์และวางแผนครอบครัว โดยชั้นใต้ถุนได้ดัดแปลงยกสูงขึ้นจากพื้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ และที่เก็บวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นหน่วยงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก รวมทั้งหน่วยงานบริการสุขภาพชุมชน
อาคารรวมน้ำใจ (พ.ศ.๒๕๓๕)…ข้างไหล่เคียงบ่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ (พ.ศ.๒๕๔๑)
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีการก่อสร้างอาคารเภสัชกรรมขนาด ๓ ชั้น จำนวน ๑ หลัง แทนที่อาคารหลังเก่าซึ่งใช้เป็นหน่วยงานห้องผู้ป่วยหนัก ด้วยเงินงบประมาณ ๑๘,๖๓๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ได้ก่อสร้างอาคารพักพยาบาลขนาด ๓๒ ยูนิต ๕ ชั้น จำนวน ๑ หลัง ใช้เงินงบประมาณไปทั้งสิ้น ๒๖,๖๙๙,๐๐๐ บาท
นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ยังได้ก่อสร้างเพื่อปรับปรุงหน่วยงานสนับสนุนอีกครั้งหนึ่งคือ ปรับปรุงห้องควบคุมเตาเผาขยะซึ่งเดิมสร้างไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เพื่อใช้เก็บควบคุมและเผาขยะโดยใช้งบประมาณ ๒,๖๘๐,๐๐๐ บาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒ แต่ต่อมาได้งดใช้เตาเผาขยะตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ เนื่องจากก่อมลพิษส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยในบ้านพักเจ้าหน้าที่และโรงเรียนบริเวณใกล้เคียง
ปี พ.ศ.๒๕๔๒ โรงพยาบาลได้เปิดให้บริการหน่วยไตเทียม โดยปรับปรุงใช้พื้นที่ห้องคลอดเก่า สามารถให้บริการเครื่องไตเทียมที่ทันสมัยจำนวน ๒ เครื่อง และมีพยาบาลที่ผ่านการอบรมเป็นพิเศษประจำหน่วย ๒ ท่าน
ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ก่อสร้างอาคารพักศพ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ซึ่งกว้างขวางและเป็นสัดส่วนสวยงามมากขึ้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๓ โดยใช้เงินงบประมาณ ๑,๓๔๖,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ก่อสร้างอาคารพักอาศัยเพิ่มเติมอีกจำนวน หลายหลังดังนี้
– อาคารพักอาศัย คอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ซึ่งได้รับเงินบริจาค จำนวน ๒๗๙,๐๖๖
บาท จากคุณมารศรี ปานดี
– บ้านพักข้าราชการระดับ ๗ – ๘ จำนวน ๒ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น
โดยใช้เงินงบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
หลังจากปี พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในการก่อสร้างอาคารให้บริการ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งประเทศ จึงมีเพียงการซ่อมแซมปรับปรุง ต่อเติมตามความจำเป็นเพื่อขยายบริการและรองรับผู้มารับบริการที่เพิ่มมากขึ้นโดยใช้งบประมาณเงินบำรุงของโรงพยาบาล และด้วยพื้นที่ของโรงพยาบาลที่มีอย่างจำกัด ทำให้แออัดคับแคบมากไม่สามารถขยายออกไปได้มากกว่านี้ ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๔๖ โรงพยาบาลจำดำเนินการขอใช้ที่ราชพัสดุ คือที่ดินบริเวณสนามบินเก่าบางส่วน มีเนื้อที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๒๒ ตารางวา ณ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลโดยมีถนนพหลโยธินคั่นกลาง เพื่อใช้ในการก่อสร้างบ้านพักและอาคารที่พักอาศัยสำหรับเจ้าหน้าที่ ตลอดจนก่อสร้างอาคารสนับสนุนบางส่วนในอนาคตต่อไป และได้มีการก่อสร้างอาคารบ้านพักเพิ่มมากขึ้นทั้งการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เดิมภายในโรงพยาบาล และบริเวณที่ดินราชพัสดุ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องพักอาศัย หลายรายการดังนี้
ปี พ.ศ.๒๕๔๖ – บ้านพักข้าราชการระดับ ๗ – ๘ จำนวน ๒ หลัง
ปี พ.ศ.๒๕๔๗ – บ้านพักข้าราชการระดับ ๓ – ๔ จำนวน ๑ หลัง
– บ้านพักข้าราชการระดับ ๗ – ๘ จำนวน ๘ หลัง
ปี พ.ศ.๒๕๔๘ – บ้านพักข้าราชการระดับ ๗ – ๘ จำนวน ๔ หลัง
– บ้านพักพยาบาล ๒๐ ห้อง จำนวน ๑ หลัง
ปี พ.ศ.๒๕๕๖ – บ้านพักพยาบาล ๓๒ หน่วย จำนวน ๑ หลัง
นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ โรงพยาบาลได้เริ่มก่อสร้างอาคารศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ๔ ชั้น พร้อมอาคารที่พักนิสิตแพทย์ จำนวน ๖๔ ห้อง ๕ ชั้น แล้วเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เปิดใช้งานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ และพิธีเปิดอาคารศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔
ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดตากขนาด ๓๑๐ เตียง มีผู้รับบริการแผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ ๑,๐๘๒ ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ ๒๖๑ ราย แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินเฉลี่ยปีละ ๒,๖๐๐ ราย สำหรับหน่วยงานที่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลและดูแลผู้ป่วย ดังนี้
๑. อาคารรวมน้ำใจ สามารถให้บริการผู้ป่วยอายุรกรรมและศัลยกรรม
ทั้งผู้ป่วยสามัญและพิเศษ โดยแบ่งเป็นสามัญ ๑๑๕ เตียง และพิเศษ ๒๔ ห้อง ประกอบด้วย หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย สามัญ ๓๕ เตียง พิเศษ ๕ ห้อง, หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง สามัญ ๓๕ เตียง พิเศษ ๕ ห้อง, หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย สามัญ ๓๐ เตียง พิเศษ ๕ ห้อง, หอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง สามัญ ๓๙ เตียง พิเศษ ๖ ห้อง
๒. อาคารเฉลิมพระเกียรติ สามารถให้บริการหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก
สามัญ ๒๕ เตียง พิเศษ ๕ ห้อง, หอผู้ป่วยสูติ – นรีเวชกรรม สามัญ ๒๕ เตียง และพิเศษ ๕ ห้อง, หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม สามัญ ๓๗ เตียง และพิเศษ ๓ ห้อง
๓. หอผู้ป่วยพิเศษสลาก สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ๒๕ ห้อง
๔. หอผู้ป่วยตา หู คอ จมูก สามารถให้บริการผู้ป่วยสามัญ ๒๑ เตียง
พิเศษ ๔ เตียง
๕. หน่วยงานพิเศษที่สามารถเปิดให้บริการ มีดังนี้
๕.๑ ห้องผู้ป่วยหนัก ให้บริการผู้ป่วยภาวะวิกฤติทุกแผนก อายุ ๑
เดือนขึ้นไป จำนวน ๘ เตียง
๕.๒ ห้องคลอด จำนวน ๖ เตียง
๕.๓ ห้องผ่าตัด จำนวน ๕ ห้อง
๕.๔ ห้องผ่าตา จำนวน ๑ ห้อง
๕.๕ หออภิบาลทารกแรกเกิด จำนวน ๘ เตียง
๕.๖ ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน จำนวน ๗ เตียง
๕.๗ ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก (OPD) ทั่วไป จำนวน ๕ ห้อง, คลินิก
พิเศษ ๑๐ ห้อง
๕.๘ ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก (ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง) จำนวน ๓
ห้อง
๕.๙ ห้องตรวจนรีเวช / ฝากครรภ์และวางแผนครอบครัว ๓ ห้อง
๕.๑๐ หน่วยไตเทียม จำนวน ๑๑ เตียง (๑๔ เครื่อง)
ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๕๘ โรงพยาบาลได้รับงบประมาณจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๑๗๙,๙๙๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดสิบเก้าแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) เพื่อก่อสร้างอาคารผ่าตัด ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ ๗ ชั้น พื้นที่ใช้สอย ๑๓,๕๓๖ ตารางเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง ๗๕๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ สิ้นสุดวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งโรงพยาบาลมีความตั้งใจในการจัดพื้นที่ชั้นที่ ๗ ของอาคารดังกล่าวเป็นสถานที่พักของพระภิกษุสงฆ์และสามเณรอาพาธให้เป็นสัดส่วน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกในฐานะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระสังฆราชยาวนานที่สุดของประเทศไทย และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระกุศล โดยได้ขอประทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช” และได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ หากอาคารดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุสงฆ์อาพาธและประชาชนผู้เจ็บป่วยที่จะได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ลดปัญหาความแออัดและขยายบริการให้แก่ผู้มารับบริการได้มากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยหน่วยบริการดังนี้
ชั้นใต้ดิน ห้องเอกซเรย์
ชั้นที่ ๑ ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน, ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกแผนกศัลยกรรม
ชั้นที่ ๒ ห้องผ่าตัดใหญ่ จำนวน ๘ ห้อง
ชั้นที่ ๓ ห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) อายุรกรรม ๘ เตียง ศัลยกรรม ๘ เตียง
ชั้นที่ ๔ หอผู้ป่วยในสามัญ ๕๔ เตียง ห้องพิเศษ ๖ ห้อง
ชั้นที่ ๕ หอผู้ป่วยในสามัญ ๕๔ เตียง ห้องพิเศษ ๖ ห้อง
ชั้นที่ ๖ ห้องพิเศษ ๑๖ ห้อง
ชั้นที่ ๗ หอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธ ๑๔ ห้อง